สำนักวิจัยสยามเทคโนโพล วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “เหตุการณ์ China Shock 3.0 ใกล้ตัวคุณแค่ไหน”
โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 1 – 9 เมษายน 2568 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,330 หน่วยตัวอย่าง การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “สยามเทคโนโพล” โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นร้อยละ 95.00 พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ไม่เคยได้ยินเกี่ยวกับเหตุการณ์ China Shock 3.0 ร้อยละ 43.47 รองลงมา ระบุว่า พอเคยได้ยินเกี่ยวกับเหตุการณ์ China Shock 3.0 แต่ไม่แน่ใจรายละเอียด ร้อยละ 33.64 และระบุว่า ทราบดีและติดตามข่าวสารเกี่ยวกับเหตุการณ์ China Shock 3.0 ร้อยละ 22.89 น้อยที่สุด โดยส่วนใหม่มีความคิดเห็นว่าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้มาก ร้อยละ 52.34 รองลงมา ระบุว่า ได้รับผลกระทบบ้าง ร้อยละ 33.72 และระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.94 น้อยที่สุด เมื่อสอบถามความกังวลต่อผลกระทบของเหตุการณ์ China Shock 3.0 ต่อโอกาสการจ้างงาน กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า กังวลปานกลาง ร้อยละ 57.86 รองลงมา ระบุว่า กังวลมาก ร้อยละ 22.38 และระบุว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 3.34 น้อยที่สุด โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีความคิดเห็นว่า แรงงานไทยควรพัฒนาทักษะใหม่ (Re skill) เช่น ทักษะดิจิทัล การใช้ AI เพื่อรับมือกับการแข่งขันจากจีน ร้อยละ 35.67 รองลงมาระบุว่า ควรยกระดับทักษะเดิม (Up skill) เช่น พัฒนาฝีมือให้เชี่ยวชาญมากขึ้น ร้อยละ 32.58 และระบุว่าควรหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาจีนหรือวัฒนธรรมการทำงานของจีน ร้อยละ 9.37 น้อยที่สุด
เมื่อพิจารณาถึงบทบาทของภาครัฐที่ควรให้การช่วยเหลือ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ระบุว่า ควรควบคุมนโยบายการนำเข้าสินค้าจากจีนอย่างรัดกุม ร้อยละ 44.72 รองลงมาระบุว่า ควรส่งเสริมธุรกิจไทยให้แข่งขันได้ ร้อยละ 32.61 และระบุว่า ควรจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจรายย่อย (SMEs) ร้อยละ 4.33 น้อยที่สุด
